ปลูกอะโวกาโด แทนพืชเชิงเดี่ยว ลงทุนน้อย ให้ผลตอบแทนเร็ว ผลิตให้ได้คุณภาพ ไม่ต้องหวั่นเรื่องตลาด

“อะโวกาโด” เป็นไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม แม้ว่าจะสามารถปลูกได้ในประเทศ แต่ยังขาดคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้าอะโวกาโดจากต่างประเทศมาขายในตลาดบ้านเราในราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีมูลค่าในการสั่งนำเข้าเพื่อการบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปีละมากมาย

จังหวัดตาก เป็นอีกแหล่งที่มีพื้นที่และผลผลิตอะโวกาโดมาก จึงทำให้บรรดานักท่องเที่ยวต่างแวะซื้อกัน เหตุผลประการหนึ่งเพราะการมีพื้นที่จำนวนมากทางภาคตะวันตกของจังหวัดตากมีความเหมาะสมและได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่ล้วนเป็นป่าไม้และภูเขาสูง

ac-16-%e0%b9%81%e0%b8%ae%e0%b8%aa

ทั้งนี้ การปลูกอะโวกาโดของชาวบ้านในช่วงแรกไม่ได้เน้นคุณภาพ เมื่อมีผลผลิตก็มักขายเหมาทั้งสวน จึงทำให้ได้ราคาต่ำ ภายหลังการเข้าไปส่งเสริมของภาคราชการที่รับผิดชอบ เพื่อมุ่งหวังให้ชาวบ้านปรับแนวทางการปลูกอะโวกาโดให้มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านการขาย

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนา พร้อมกับผลักดันในชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกอะโวกาโดให้มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้สูง พร้อมไปกับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพืชต่อไป

ทั้งนี้ อะโวกาโดถือเป็นพืชสำคัญและมีแนวโน้มทางด้านการตลาดสูง ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านเป็นจำนวนมากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในกระบวนการปลูกและการตลาดอย่างดีพอ ดังนั้น การเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

พัฒนาคุณภาพ ด้วยการพัฒนากิ่งพันธุ์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) ดูแลรับผิดชอบ 2 จังหวัด คือ ตาก กับอุทัยธานี มุ่งส่งเสริมชาวบ้านในการปลูกพืชที่เหมาะสมแล้วให้ความสำคัญกับอะโวกาโดเป็นหลัก รองลงมาคือ พลับ และกาแฟ ในอดีตชาวบ้านมีการปลูกอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองกันอยู่แล้ว โดยขายผลผลิตแบบเหมาทั้งสวน มีรายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมาก เนื่องจากขาดคุณภาพ

เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ขายได้ราคาที่สูง ทางศูนย์จึงปรับปรุงคุณภาพผ่านเทคโนโลยีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ โดยคัดเลือกยอดพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเชิงการค้า เช่น ปิเตอร์สัน บัคคาเนียร์ และแฮส ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ จะให้ผลผลิตต่างเวลากัน เริ่มจากปิเตอร์สันก่อนแล้วจบที่แฮส ที่ให้ผลผลิตไปจนถึงเดือนธันวาคม จึงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกทั้ง 3 พันธุ์ จะได้มีผลผลิตพร้อมและมีรายได้ที่ยาวนาน

พันธุ์แฮสที่วางจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด เป็นการนำเข้ามาจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ขายลูกละ 60-70 บาท ส่วนปิเตอร์สันและบัคคาเนียร์ที่ทางศูนย์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกด้วยวิธีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศและผลักดันให้มีการปลูกอะโวกาโดด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่า ซึ่งมีลูกค้าสั่งจองกันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40 บาท แม่ค้านำไปขายปลีกกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนพันธุ์แฮสขายเป็นผล เฉลี่ยผลละ 20-30 บาท

ac-15-%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%95%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%a1%e0%b8%b9%e0%b9%80%e0%b8%8b%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%88

อีกเหตุผลที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกอะโวกาโด เพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผาต้นพืชก่อนเตรียมแปลงปลูกข้าวโพด โดยนำอะโวกาโดไปปลูกในไร่ข้าวโพด วิธีนี้ เพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ ช่วยรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างมลภาวะอากาศให้ดีขึ้น

ผลักดันปลูกอะโวกาโด แทนพืชเชิงเดี่ยว

ต่อจากนั้นทีมงานได้เดินทางไปชมแปลงปลูกต้นพันธุ์อะโวกาโด ซึ่งแปลงดังกล่าวได้รวบรวมสายพันธุ์อะโวกาโดที่เหมาะกับการค้าและเป็นที่นิยมของตลาด โดย คุณธนากร โปทิกำชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เป็นผู้ให้รายละเอียดและข้อมูล

คุณธนากร บอกว่า จุดมุ่งหมายหลักคือ ความพยายามให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาหรือมีต้นทุนสูง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การปลูกกะหล่ำในพื้นที่ลาดชัน แล้วหันมาปลูกอะโวกาโดแทน เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อย โดยเฉพาะพื้นที่แถบพบพระที่มีลักษณะทางธรรมชาติที่เอื้อต่อการปลูก ตลอดจนขายได้ราคาดี มีแหล่งจำหน่ายที่ชัดเจน เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น

ภายในบริเวณศูนย์ถูกจัดแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ทั้งโซนต้นพันธุ์พ่อ-แม่ โซนแปลงเพาะต้นกล้า โซนแปลงเปลี่ยนยอดพันธุ์ในถุง และโซนแปลงเปลี่ยนยอดพันธุ์จากต้น เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ให้มากที่สุด ตลอดจนทำเป็นแปลงแม่พันธุ์สำหรับไว้ถ่ายทอดเทคโนโลยีของศูนย์ด้วย

มีโอกาสสร้างรายได้ จึงเน้นพันธุ์เพื่อการค้า

การปลูกอะโวกาโดในพื้นที่สูงมีโอกาสและได้เปรียบมาก การเลือกสายพันธุ์สำหรับปลูกควรมองตลาดเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปิเตอร์สัน ลูเทิ่น บู๊ช บัคคาเนียร์ แฮส และปากช่อง 28 ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์สุดท้ายของช่วงฤดูกาล ล้วนแต่ตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกตลาด ทั้งตลาดบริโภค ตลาดชุมชน หรือตลาดแปรรูปส่งโรงงานอุตสาหกรรมที่นำไปทำเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม รวมถึงควรมีลักษณะคุณสมบัติเด่นคือให้ผลผลิตและค่าตอบแทนสูง คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย

“ทางศูนย์พยายามคัดพันธุ์โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถตอบสนองกับพื้นที่พบพระแล้วยังมีความโดดเด่นด้านรสชาติ ขนาดผล ตลอดจนความหนา-บางของเปลือกปลอดภัยต่อการขนส่ง โดยนำพันธุ์ต่างๆ ไปใช้ได้ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง”

ac-02-%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%94%e0%b8%b9%e0%b8%82%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5

พัฒนายอดพันธุ์ดี ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์

ทางศูนย์ได้นำ “เทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี” มาพัฒนาต่อยอดการปลูกอะโวกาโด เพื่อให้ได้ผลผลิตเร็ว ซึ่งเทคนิคดังกล่าวมี 2 วิธี คือการต่อกิ่งแบบฝานบวบ กับการเสียบเปลือกประยุกต์

การต่อกิ่งแบบฝานบวบ เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้พันธุ์ดีตามที่ต้องการ จากประสบการณ์พบว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการผลิตต้นกล้าอะโวกาโดเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี เพราะจะได้รอยต่อที่มีความแข็งแรงมากกว่าวิธีการติดตา และมีคุณภาพมากกว่า ส่วนข้อเสียคือ จะต้องรอเวลาเพื่อให้กิ่งมีความเหมาะสมกับยอดพันธุ์ก่อน

การเสียบเปลือกประยุกต์ ควรเลือกใช้ในกรณีที่กิ่งยอดพันธุ์ดีมีขนาดเล็กกว่าต้นตอ เป็นการเสียบเข้ากับเปลือกล็อกท่อน้ำและท่ออาหาร แล้วจึงนำกิ่งยอดพันธุ์ดีเสียบเข้าไป วิธีนี้มีข้อดีคือ สะดวก ง่าย ทำได้ทันที แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความชำนาญ และทักษะ มิเช่นนั้นอาจทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดน้อยกว่าการฝานบวบ

ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือ การประสานเนื้อไม้อาจไม่ดีพอ เนื่องจากเนื้อไม้ทั้งสองมีความแตกต่างด้านอายุต้น ระหว่างกิ่งแก่กับกิ่งอ่อน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจให้ผลผลิตไม่เป็นที่น่าพอใจ วิธีนี้เหมาะสำหรับนำมาใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนสายพันธุ์ ในลักษณะเป็นต้นแฟนซีสำหรับโชว์สายพันธุ์ต่างๆ ในต้นเดียวกัน

ac-09-%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%ae%e0%b8%aa

หากต้องการเปลี่ยนยอดพันธุ์ อาจทำให้ 2 ลักษณะ คือเปลี่ยนยอดในถุงหรือเปลี่ยนยอดในแปลง ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน

การเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีในถุง ส่วนมากใช้วิธีฝานบวบ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วยังป้องกันเชื้อที่อาจก่อโรคเข้ามาติดได้ง่าย คุณธนากรมองว่าหากจะทำในเชิงพาณิชย์ การใช้วิธีเปลี่ยนยอดในถุงเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ของทรงต้น เพื่อนำมาปลูก มีการบริหารจัดการได้ง่าย เนื่องจากสามารถเลือกสายพันธุ์ได้ เลือกขนาดต้นกล้าได้ ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเรื่องเวลาได้

ขณะที่ การเปลี่ยนยอดในแปลง ต้องรอเวลาการปลูกต้นตอพันธุ์ไปสัก 1-3 ปีแล้วมักพบปัญหาการเชื่อมต่อประสานของเนื้อไม้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอายุเนื้อไม้ที่ต่างกัน การเปลี่ยนในแปลงนั้นเหมาะกับยอดพันธุ์ดีหรือเปลี่ยนสายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีล้วนมีข้อดี-ข้อเสีย ต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เป็นหลักด้วย สำหรับฤดูที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนยอดคือ ช่วงหน้าหนาว หากเป็นช่วงจังหวะที่กิ่งตาพร้อมในช่วงหน้าฝนก็ทำได้ แต่ถ้าไม่ชำนาญและทักษะไม่ดีพอ อาจทำให้โอกาสรอดน้อย

ac-07%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98

อีกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาของการปลูกอะโวกาโดคือ ที่ผ่านมาชาวบ้านเก็บผลผลิตที่ยังไม่สุกแก่ขาย ลูกค้าที่เพิ่งซื้อครั้งแรกชิมแล้วมีรสขมฝาด จึงเกิดทัศนคติไม่ดี มีผลต่อการซื้อทันที กรณีขายอะโวกาโดยยกสวน คนเก็บไม่ใช้ความระมัดระวังทำให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้ขายยาก ราคาตก การเก็บต้องสังเกตผลที่จุกสีแดงหรือผิวที่เปลี่ยนสี

ชาวบ้านแห่ปลูกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด              

ภายหลังจากที่ศูนย์ส่งเสริมชาวบ้านปลูกอะโวกาโด เป็นที่น่าดีใจที่ชาวบ้านต่างเห็นประโยชน์ หันมาปลูกเพิ่มมากขึ้นชนิดก้าวกระโดด จากเดิมที่มีพื้นที่ปลูกอะโวกาโดอยู่ 500 ไร่ เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 1,500 ไร่ ภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งพันธุ์ดี และพันธุ์พื้นบ้านทั่วไป

บัคคาเนียร์ผลสุก
บัคคาเนียร์ผลสุก

สายพันธุ์ที่ควรปลูกเชิงการค้า ได้แก่ พันธุ์บัคคาเนียร์ ข้อดีให้ผลดก โตเร็ว ขั้วเหนียว ทนทานต่อแรงลม เปลือกหนา เมล็ดเล็ก เนื้อมาก ถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีทุกอย่างครบ เหมาะสำหรับกินผลสด และแปรรูปส่งโรงงาน ท่ี่สำคัญ สามารถอยู่บนต้นได้นานถึงเดือนพฤศจิกายน บัคคาเนียร์จะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2-3 แต่มักเก็บขายจริงจังในปีที่ 4

อีกสายพันธุ์ที่น่าสนใจคือ พิงค์เคอร์ตัน ที่มีจุดเด่นลบข้อเสียของแฮสได้ทั้งหมด ที่สำคัญให้ผลดก ขนาดผลใหญ่ในระดับพรีเมี่ยม พันธุ์แฮสต้องปลูกในระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 600 เมตร จึงจะได้ผลดี แต่พิงค์เคอร์ตัน ไม่มีข้อจำกัดในระดับพื้นที่ปลูก ปลูกแค่ 300-400 เมตร จากระดับน้ำทะเลก็เพียงพอแล้ว

แนะปลูกหลายพันธุ์ สร้างรายได้ต่อเนื่อง

หากต้องการปลูกอะโวกาโดที่ให้ผลผลิตและมีรายได้ต่อเนื่อง ควรปลูก พันธุ์ปิเตอร์สัน เพราะเก็บผลผลิตขายได้ก่อนพันธุ์อื่น รองลงมาคือ พันธุ์ลูเฮิร์น ที่มีจุดเด่นคือ ให้ผลดก รสชาติอร่อยมาก เหมาะสำหรับกินผลสดหรือทำเมนูลอดช่องน้ำกะทิแทนแตงไทยได้เลย แต่ข้อเสียอย่างเดียวคือ เปลือกบาง ไม่เหมาะสำหรับขนส่งในระยะทางไกล

ปิเตอร์สัน
ปิเตอร์สัน

สำหรับ พันธุ์ปากช่อง 28 จะออกผลผลิตเป็นชนิดสุดท้ายและให้ผลผลิตยาวข้ามปี ช่วงปลายมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากที่พันธุ์อื่นให้ผลผลิตหมดแล้ว จึงขายได้ราคาดี จุดเด่นคือ อายุการเก็บเกี่ยวนาน

“ทางศูนย์ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมปลูกอะโวกาโดมาก เพราะลงทุนต่ำ สร้างรายได้สูง เป็นประโยชน์ต่อผู้ปลูกมาก แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการปลูกอย่างมีคุณภาพ และสามารถปลูกทดแทนพืชเชิงเดี่ยวได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด หากปลูกได้อย่างมีคุณภาพ ผู้รับซื้อวิ่งเข้ามาหาคุณแน่นอน” คุณธนากร กล่าว

สนใจสอบถามข้อมูลอะโวกาโดได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) โทรศัพท์ 055-806-249 (ในวัน/เวลาราชการ) หรือ คุณธนากร โปทิกำชัย โทรศัพท์ 081-724-8013

หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวตลอดจนกิจกรรมดีๆ ที่น่าสนใจของอะโวกาโด ได้ที่เฟซบุ๊ก : “คนรักอะโวกาโด (Avocado)” แล้วท่านจะไม่ตกเทรนด์เรื่องสุขภาพอย่างแน่…

ac-08-%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%99

……………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559