เผยเคล็ดลับเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต อาชีพเสริมรายได้ในสวนไผ่

“ หนอนไม้ไผ่ ”จัดอยู่ในกลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food ) เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  หนอนไม้ไผ่ นับเป็นแมลงที่สะอาดที่สุด เนื่องจากมีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในกระบอกไม้ไผ่และกินเยื่อไม้ไผ่เป็นอาหาร ระยะตัวหนอนที่นิยมนำมาบริโภค ส่วนใหญ่พบได้ในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม หนอนไม้ไผ่มีรสชาติอร่อยและมีสารโปรตีนสูง 26-29% และมี ไขมันสูง 50-54 %

หนอนไม้ไผ่ เป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาสูงกว่า 500 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ปริมาณหนอนไม้ไผ่ตามธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้ป่าไผ่ตามธรรมชาติบางพื้นที่ถูกทำลายไปด้วย   รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ พร้อมจัดทำหนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ทั้งในพื้นที่ป่าไผ่ธรรมชาติและสวนป่าไผ่แบบที่มีหนอนไม้ไผ่อาศัยมาก่อนหรือแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้สนใจสามารถ download หนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ในประเทศไทย ได้ตามลิงค์นี้  https://www.arda.or.th/api/component-file/image/9220/o

ผีเสื้อหนอนไม้ไผ่

 

เลือกพื้นที่ให้เหมาะสม

สำหรับเลี้ยงหนอนไม้ไผ่

กรณีพื้นที่ที่ไม่มีหนอนไม้ไผ่อยู่อาศัยมาก่อน หากต้องการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ สามารถดำเนินการได้ โดยเลือกพื้นที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของหนอนไม้ไผ่ จากนั้นให้นำปล้องไผ่ที่มีดักแด้ระยะสุดท้าย (สีน้ำตาลเข้ม) มาแขวนในกอไผ่หรือแปลงไผ่สูงประมาณ 1.5-2 เมตร โดยเตรียมการในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม ควรนำปล้องไผ่ที่มีดักแด้ระยะสุดท้ายเหมือนกันจำนวน 2-3 ปล้อง ครอบคลุมกอไผ่ประมาณ 10-15 กอ

ทั้งนี้พบว่า การจับคู่ผสมพันธุ์ของผีเสื้อหนอนไม้ไผ่เกิดได้ค่อนข้างยาก จึงต้องใช้ดักแด้จำนวนมากมาแขวนไว้เพื่อให้การออกเป็นผีเสื้อหนอนไม้ไผ่จำนวนมากเพียงพอสำหรับการจับคู่ผสมพันธุ์ ช่วงนี้ต้องระวังศัตรูธรรมชาติของหนอนไม้ไผ่ด้วย โดยเฉพาะมดต้องกำจัดให้หมดก่อนปล่อย  สาเหตุที่ไม่นำผีเสื้อหนอนไม้ไผ่มาปล่อยในพื้นที่โดยตรงเนื่องจาก ผีเสื้อไม่ค่อยตื่นตัว มักเกาะนิ่งๆ และจำนวนที่ออกจากดักแด้ในแต่ละคืนมีค่อนข้างน้อย จึงยากต่อการจับคู่ผสมพันธุ์นั่นเอง แต่หากมีผีเสื้อจำนวนมาก ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน

 

การเตรียมกอไผ่และหน่อไผ่ 

ผีเสื้อหนอนไม้ไผ่เป็นผีเสื้อกลางคืน การทำกิจกรรมจึงเกิดช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ช่วงเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวตามกอไผ่ บริเวณดังกล่าวไม่ควรโล่งเตียน ควรมีเศษซากพืชหรือวัชพืชขึ้นอยู่บ้าง กอไผ่ที่เหมาะสมต่อการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ ควรมีตั้งแต่ 10 หน่อขึ้นไป ขนาดหน่อหรือลำไผ่ที่เหมาะแก่การเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 10 ชม.ขึ้นไป และลำไผ่ภายในกอควรอยู่ใกล้ชิดกัน หน่อไผ่ที่โผล่ขึ้นมาแล้ว 20-30 ซม.เหมาะแก่การวางไข่มากที่สุด ขั้นตอนนี้ดำเนินการได้ทั้งในป่าไผ่ธรรมชาติและสวนป่าไผ่

วิธีเพิ่มปริมาณ “ หนอนไม้ไผ่ ”

โดยทั่วไป มักพบหนอนไม้ไผ่ต่อลำในปริมาณค่อนข้างน้อยไม่ถึง 1 ขีดแต่สามารถเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่ให้มากขึ้นใน 2 รูปแบบ คือ การเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่แบบต่อกอ กับการเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่แบบต่อหน่อ

การเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่ทั้ง 2 รูปแบบ มีวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน คือ แบบต่อหน่อจะเน้นปริมาณหนอนไม้ไผ่ต่อหน่อให้มีปริมาณมากขึ้น โดยนำระยะตัวเต็มวัยมาปล่อยในกรงตาข่าย ส่วนแบบต่อกอจะเน้นจำนวนหน่อที่มีหนอนไม้ไผ่และนำระยะดักแด้มาวางในกรงตาข่าย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่แบบต่อกอ ทำได้ง่ายกว่าแบบต่อหน่อ โดยเน้นการเพิ่มจำนวนหน่อให้มีหนอนไม้ไผ่มากขึ้นเป็นแนวทางที่ดีกว่าแบบต่อหน่อ

การเพิ่มผลผลิตแบบต่อหน่อ เริ่มจากเลือกหน่อไผ่ที่มีความสูงไม่เกิน 30 ซ.ม. จากนั้นทำการล้อมด้วยตาข่ายซึ่งอาจใช้ 1 หรือ 2 หน่อต่อกรงก็ได้ ภายใน 1 กอ ถ้ามีหน่อมาก สามารถล้อมได้หลายกรง โดยเลือกหน่อที่อยู่ด้านในกอเป็นหลัก ขนาดกรงควรมีพื้นที่ภายในกว้างพอควร กรงตาข่ายควรสูงอย่างน้อย 150 ซ.ม.ขึ้นไป การล้อมด้วยกรงตาข่ายจะทำเฉพาะช่วงที่นำผีเสื้อหรือดักแด้มาปล่อยเท่านั้น อาจใช้เวลาประมาณ  7 วัน   กรงตาข่ายไม่ควรมีช่องที่ผีเสื้อจะเดินออกไปได้หลังจากการปล่อยเพื่อจะทำให้มีพื้นที่เพียงพอต่อการหมุนเวียนอากาศและพื้นที่จับคู่ผสมพันธุ์ของผีเสื้อหนอนไม้ไผ่

การเตรียมผีเสื้อหนอนไม้ไผ่

แนวทางการเพิ่มผลผลิตแบบต่อหน่อและแบบต่อกอมีจุดที่แตกต่างกันคือ แบบต่อหน่อจะใช้ระยะตัวเต็มวัย โดยการนำตาข่ายไปล้อมปล้องที่มีรูเจาะออกของหนอนไม้ไผ่ ทำการล้อมตั้งแต่ช่วงที่เป็นระยะดักแด้ระยะสุดท้าย (มิถุนายน-กรกฎาคม)  เนื่องจากการออกเป็นตัวเต็มวัยและการจับคู่ผสมพันธุ์เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน หลังจากการออกเป็นผีเสื้อแล้วให้รีบเก็บใส่ขวดโหลและนำไปปล่อยในกรงตาข่ายทันที จำนวนผีเสื้อที่จะปล่อยต้องมีจำนวนมาก ควรล้อมปล้องไผ่หลายๆลำ

สำหรับแบบต่อกอนั้นจะใช้ระยะดักแด้ ควรสำรวจจำนวนลำไผ่ที่มีหนอนไม้ไผ่ พร้อมทำเครื่องหมาย  ช่วงต้นเดือนมิถุนายนให้ทำการตรวจสอบระยะดักแด้ โดยดูจากสีดักแด้ หากมีสีน้ำตาลอ่อน (อายุน้อย) หรือ สีน้ำตาลเข้ม (ดักแด้ระยะสุดท้าย) ให้ทำเครื่องหมายไว้เพื่อรอนำไปปล่อยในกรงตาข่าย

การออกของผีเสื้อมีจำนวนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะความชื้นและอากาศเย็น ส่วนใหญ่ทำให้ได้จำนวนน้อย ช่วงที่เป็นดักแด้ หากมีการปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมโดยพ่นน้ำรอบกอไผ่ที่ล้อมตาข่ายให้เกิดความชื้นและอากาศเย็น จะช่วยกระตุ้นการออกเป็นผีเสื้อได้มากขึ้น

หนอนไม้ไผ่ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน  มีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี โดยอยู่ในระยะไข่ 4-6 วัน ระยะตัวหนอน 270 – 300 วัน ระยะดักแด้ 35-40 วัน และระยะตัวเต็มวัย 15-20วันเท่านั้น

ช่วงผีเสื้อจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หลังจากหนอนไม้ไผ่ออกจากไข่ จะรวมกลุ่มกันเจาะรูเข้าไปอยู่ภายในปล้องไผ่เพียง 1 รู เพื่อกินเยื่อไผ่และเนื้ออ่อนของไผ่ ขนาดของรูเจาะเข้าประมาณ 2-4 มม. เป็นรูกลมรี สามารถพบได้ระหว่างปล้องที่ 2-11 ปล้อง

การเก็บหนอนไม้ไผ่

ช่วงการเก็บหนอนไม้ไผ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม จนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นตัวหนอนระยะที่ 4-5 แต่ระยะที่ 5 จะดีที่สุด หลังจากหนอนมีการกินหน่อไผ่อย่างหนัก จะเห็นเป็นร่องยาวๆ ตัวหนอนจะเดินลงมายังปล้องที่มีรูเจาะออก ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ระยะนี้ ตัวหนอนมีความสดและสมบูรณ์มากที่สุด เหมาะสำหรับเก็บหนอนไม้ไผ่มาขายหรือรับประทาน

หากใครอยากได้คำแนะนำการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่อย่างละเอียด สามารถ download หนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ในประเทศไทย ได้ตามลิงค์นี้  https://www.arda.or.th/api/component-file/image/9220/o