กรมวิชาการเกษตรประชุมหน่วยงานด้านพืช หลัง FAO ถามท่าทีไทย 20 ปี ยังไม่ลงสัตยาบันสนธิสัญญาด้านทรัพยากรพืชอาหารฯ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมเรื่อง สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture, ITPGRFA) โดย ดร.แดเนียล แมนเซลล่า ผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ด้านสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตรให้ความรู้รายละเอียดสนธิสัญญาในโอกาสติดตามความคืบหน้าต่อท่าทีของไทยหลังจากได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ขณะที่ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีสนธิสัญญาฯ แล้ว 151 ประเทศ โดย นายโบ โจว ผู้แทน FAO ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (FAO Regional Office for Asia and the Pacific) ประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ขณะที่ฝ่ายไทยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพืชและอาหารเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อนำข้อหารือไปกำหนดท่าทีระดับกรมเพื่อเสนอต่อระดับนโยบายต่อไป

“ดร.แดเนียล ได้ให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพันธุกรรมพืชอาหารและการเกษตรของไทยต่อสนธิสัญญาดังกล่าว และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน รวมถึงการตอบข้อกังวลหากไทยจะลงสัตยาบัน ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า กรณีชนิดพืชที่จะเข้าตามความร่วมมือดังกล่าวนั้นให้เป็นไปตามที่แต่ละประเทศต้องการภายใน 64 รายการของเอฟเอโอ ดังนั้น กรณีพืชพื้นเมืองหรือพืชอ่อนไหวแต่ละประเทศสามารถที่จะสงวนสิทธิ์ได้ ในภาวะความแปรปรวนทางภูมิอากาศของโลกการลงนามสัตยาบันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ที่จะศึกษาวิจัยให้ได้พืชเพื่อรับมือภาวะเหล่านั้น เพื่อความมั่นคงด้านพืชอาหารและการเกษตรของโลกในอนาคต ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงต่างประเทศ เพื่อพิจารณากำหนดท่าทีต่อไป” นายรพีภัทร์ กล่าว

ทั้งนี้ หลักการและสาระสำคัญของ ITPGRFA คือ การอนุญาตให้เข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมพืช จำกัดอยู่เฉพาะวัตถุประสงค์ 3 ประการ ประกอบด้วย 1. เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ 2. การปรับปรุงพันธุ์ และ 3. การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช เป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสนธิสัญญาฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งระบบพหุภาคีเพื่อการเข้าถึงและแบ่งปันผลของทรัพยากรพันธุกรรมพืช ครอบคลุมทรัพยากรพันธุกรรมพืชตามบัญชีรายชื่อ 64 รายการ ที่ระบุไว้ในภาคผนวกที่ 1 ของสนธิสัญญาฯ โดยทรัพยากรเหล่านี้ต้องเป็นสมบัติสาธารณะและอยู่ภายใต้การจัดการและควบคุมของรัฐบาลภาคีสมาชิก

สำหรับในการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภายใต้เครือข่ายโครงการศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (NPGRC) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น ร่วมถึงรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบ Web Conference (Zoom)  ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขว้าง โดยจะมีการประสานงานกันผ่านกรรมการในระดับกรมเพื่อทำข้อมูลเสนอฝ่ายนโยบายต่อไป