ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกง่าย ตลาดต้องการมาก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 ฝักใหญ่ ยืนต้นดี ปลูกถี่ได้

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ประมาณ 94 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวโพดใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย ทุกวันนี้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผลิตได้น้อย บางปีจึงต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาใช้ในประเทศ

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะทางการเกษตรสม่ำเสมอ ได้แก่ ขนาดฝัก ความสูงฝัก ความสูงต้น อายุถึงวันออกไหม และเก็บเกี่ยว ที่สำคัญให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด จึงเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้

สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสมที่จำหน่ายในท้องตลาด มักให้ผลผลิตสูง มีอายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา เลย เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น

แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จังหวัดลพบุรี
แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จังหวัดลพบุรี

ในแต่ละปีการผลิต เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 2 ครั้ง ข้าวโพดรุ่นแรก เริ่มปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ยังคงมีฝนตกมาก ทำให้ผลผลิตข้าวโพดมีความชื้นสูง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อราและสารอะฟลาท็อกซิน การเพาะปลูกข้าวโพดรุ่น 2 ประมาณช่วงฤดูแล้ง แต่ข้าวโพดรุ่นนี้จะมีปริมาณผลผลิตไม่มาก การเพาะปลูกจะเริ่มในเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของปีถัดไป

 

คุยกับคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

คุณกัณฑิมา อยู่เพ็ชร อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 7 ตำบลช่องสาริกา อำเภอช่องสาริกา จังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวเธอปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนถึงปัจจุบันยาวนานนับ 20 ปี สาเหตุที่เลือกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว เพราะแหล่งที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลช่องสาริกา มีสภาพเป็นที่ดอน ไม่เอื้อต่อการทำนา แต่เหมาะต่อการปลูกพืชไร่มากกว่า เธอจึงตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะพืชไร่ชนิดนี้ปลูกดูแลง่าย

คุณกัณฑิมา อยู่เพ็ชร
คุณกัณฑิมา อยู่เพ็ชร

ทุกวันนี้เธอมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 260 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของเธอเองและที่ดินเช่า สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ เธอยอมรับว่า ราคาไม่สู้ดีนัก จากเดิมที่เคยขายผลผลิตได้ในราคา 90 บาท ต่อถัง (1 ถัง น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม) ปีนี้ราคาลดลงเหลือแค่ 70 บาท ต่อถัง เท่านั้น

ในท้องถิ่นแห่งนี้ สามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละ 2 รุ่น ผลผลิตรุ่นแรกจะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี เกษตรกรจะคอยสังเกตว่า หากฝนตกลงมาเมื่อไรก็จะลงมือปลูกทันที ส่วนผลผลิตรุ่น 2 จะลงมือปลูกอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมเท่านั้น หากฝนมาล่าช้ากว่าปกติ เกษตรกรก็จะหันไปปลูกทานตะวันแทน

ปัจจุบันคุณกัณฑิมาเลือกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 เพราะมีขนาดฝักใหญ่ ยืนต้นดี ปลูกถี่ได้ อายุเก็บเกี่ยวฝักสดประมาณ 110 วัน หากเก็บฝักแห้งจะใช้เวลาปลูกประมาณ 120 วัน นอกจากนี้ ยังมีลักษณะเด่นคือ ความสูงต้นปานกลาง ตำแหน่งฝักต่ำ ลำต้นแข็งแรง ระบบรากและการยืนต้นดี ให้ผลผลิตฝักเดี่ยว ขนาดใหญ่แต่แกนเล็ก เมล็ดลึก เปอร์เซ็นต์การกะเทาะสูง เปลือกหุ้มฝักมิด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 ฝักใหญ่ ยืนต้นดี ปลูกถี่ได้
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 ฝักใหญ่ ยืนต้นดี ปลูกถี่ได้

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่ราบ ที่เนิน สภาพดินสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนปานกลาง เมื่อปลูกในระยะห่าง 70×20 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น ไม่ควรเกิน 12,000 ต้น ต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดต่อไร่ให้สูงขึ้นได้ เมื่อดูแลจัดการแปลงอย่างเหมาะสม เริ่มจากช่วงรองพื้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมีหมอดิน สูตร 10-10-5 พร้อมหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อบำรุงให้ธาตุอาหารหลัก รอง และเสริม สำหรับช่วยบำรุงระบบราก บำรุงลำต้นให้เติบโตเร็ว ใบเขียวนาน

ช่วงที่ทำรุ่น ใส่ปุ๋ยเคมีหมอดิน สูตร 27-12-6 ในอัตรา 30-35 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อช่วยบำรุงลำต้น ใบ ให้ต้นข้าวโพดมีฝักใหญ่ น้ำหนักดี เมล็ดติดเต็มฝัก สำหรับช่วงออกดอกหัว หากพบว่า ต้นข้าวโพดไม่สมบูรณ์ หรือกระทบแล้ง เกษตรกรจะได้รับคำแนะนำให้ใส่ปุ๋ยหมอดิน สูตร 46-0-0 ในอัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อช่วยให้ดอกสมบูรณ์ ติดเมล็ดดี และให้ผลผลิตสูง

คุณนงคราญ บุญอยู่
คุณนงคราญ บุญอยู่

ด้าน คุณนงคราญ บุญอยู่ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลชอนสารเดช อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ผลตอบแทนดีกว่าพืชไร่ชนิดอื่น ครอบครัวเธอจึงตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง เธอเลือกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ ซี.พี.301 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวไว ความชื้นต่ำ เมล็ดสีสวย ขายผลผลิตได้ราคาดี ขายฝักสดได้ในระยะ 90-95 วัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.301 ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวไว ขายฝักสด
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.301 ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวไว ขายฝักสด

ข้อดีของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ ซี.พี.301 ที่โดนใจเกษตรกร นั่นก็คือ ต้นเตี้ย ปลูกถี่ได้ ลำต้นและระบบรากแข็งแรง ฝักเดี่ยว เมล็ดลึก ขนาดฝักสม่ำเสมอทั้งแปลง เปลือกหุ้มมิด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,200-1,900 กิโลกรัม ต่อไร่ เติบโตได้ดีในสภาพที่ราบ ที่ต่ำ สภาพดินสมบูรณ์ปานกลาง ปริมาณน้ำฝนดี ปลูกในระยะห่าง 70×20 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น ไม่ควรเกิน 12,000 ต้น ต่อไร่

 

ภาพรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย

ทุกวันนี้ปัญหาสำคัญของการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือ ผลผลิตประมาณร้อยละ 85 ของผลผลิตทั้งหมด ออกสู่ตลาดกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม และเนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่าร้อยละ 50 ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมและพื้นที่เขตป่าไม้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยรายงานสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วงปี 2557/2558 ว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 7.40 ล้านไร่ ผลผลิต 5.01 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 676 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เพราะราคาปรับตัวลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6.84 โดยเฉพาะค่าเช่าที่ดินและค่าดูแลรักษา ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 13.91 และร้อยละ 13.68 ตามลำดับ นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคปศุสัตว์ เฉลี่ยต่อปีร้อยละ 3.55 แต่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 1.50

ตลาดต้องการข้าวโพดไร่ที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ความชื้นไม่เกิน 14.0%
ตลาดต้องการข้าวโพดไร่ที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ความชื้นไม่เกิน 14.0%

ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่าร้อยละ 90 ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ภายในประเทศเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แต่ผลผลิตรุ่นนี้มักเจอปัญหาฝนตกชุกและต่อเนื่องในช่วงระยะเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นนี้มักเกิดปัญหาด้านคุณภาพ เพราะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสูง มีโอกาสเกิดอะฟลาท็อกซินได้ง่าย ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงไม่นิยมซื้อเก็บสต๊อกไว้ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมากในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม มีราคาอ่อนตัวลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังเรื่องคุณภาพและการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว เพราะหากเมล็ดมีความชื้นสูงจะทำให้แตกหักง่ายและโอกาสเกิดอะฟลาท็อกซินง่ายยิ่งขึ้น

จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พบว่า ต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับค่าปุ๋ยเคมี สารเคมีศัตรูพืชและวัชพืช เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากนิยมใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงดิน ในช่วงที่ราคาปุ๋ยเคมีปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้เกษตรกรแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย   

ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน
ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน